​ 

บึงกุ่มงาม สวนน้ำใหญ่
แหล่งพักอาศัย ประชาร่วมใจพัฒนา

 

อำนาจหน้าที่

           สำนักงานเขต มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครอง การทะเบียน การจัดทำแผนพัฒนาเขต การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ การสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอื่นๆ การสาธารณูปการ การส่งเสริม การฝึก การพัฒนาคุณภาพชีวิต การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น การจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การส่งเสริมการกีฬา การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎร การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน การควบคุมการเลี้ยงสัตว์ การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์ การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ การคุ้มครอง ดูแลบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การวิศวกรรมจราจร การดูแลรักษาที่สาธารณะ การควบคุมอาหาร การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยการส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ การจัดเก็บรายได้ การบังคับการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

วิสัยทัศน์

           เขตบึงกุ่มเป็นแหล่งพักอาศัยที่น่าอยู่ที่สุดของกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก

ประวัติความเป็นมา

           ประมาณ พ.ศ.2386 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาบดินทรเดช (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองหลวงพระบางจนได้รับชัยชนะ และได้กวาดต้อนครอบครัวจากหัวเมืองรายทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร โดยให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เขตบึงกุ่มและเขตคันนายาวในปัจจุบัน ในย่านนั้นมีคลองสายหนึ่งซึ่งแยกจากคลองแสนแสบและไหลผ่านบึงเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ มีต้นกุ่มขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกแหล่งน้ำสองแห่งนั้นว่า "คลองกุ่ม" และ "บึงกุ่ม"

           เมื่อมีผู้คนอพยพเข้าไปอาศัยและทำมาหากินในบริเวณนี้เพิ่มขึ้น ย่านคลองกุ่มและพื้นที่ใกล้เคียงจึงได้รับการจัดตั้งเป็น ตำบลคลองกุ่ม เป็นตำบลหนึ่งที่ขึ้นกับอำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร โดยกระทรวงมหาดไทยก็ได้ขยายเขตสุขาภิบาลบางกะปิให้ครอบคลุมถึงตำบลคลองกุ่มด้วยใน พ.ศ.2506

           ใน พ.ศ.2514 จังหวัดพระนครถูกรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี เปลี่ยนฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และใน พ.ศ.2515 จึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เปลี่ยนคำเรียกเขตการปกครองใหม่ ตำบลคลองกุ่มได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น แขวงคลองกุ่ม อยู่ในการปกครองของเขตบางกะปิ

           เนื่องจากเขตบางกะปิมีพื้นที่กว้างขวางมากและมีประชากรหนาแน่นขึ้น เพื่อความสะดวกในการบริหารราชการ "เขตบึงกุ่ม" ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตอย่างเป็นทางการเมื่อได้มีการแยกพื้นที่ปกครองออกจากเขตบางกะปิ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2532 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางกะปิ พร้อมทั้งจัดตั้งเขตบึงกุ่มและเขตลาดพร้าว ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2532 เป็นต้นมา โดยเขตบึงกุ่มประกอบด้วยเขตการปกครอง 3 แขวง คือ แขวงคลองกุ่ม แขวงคันนายาวและ แขวงสะพานสูง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 81.12 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบึงกุ่ม โดยยกระดับเขตการปกครองแขวงคันนายาวจัดตั้งเป็นเขตคันนายาว และเขตการปกครองแขวงสะพานสูงจัดตั้งเป็น เขตสะพานสูงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2540

​การแบ่งแขวง

สัญลักษณ์เขตบึงกุ่ม

           สีประจำเขต สีชมพู, ฟ้าคราม

           ธงประจำเขต พื้นธงสีฟ้าคราม ปักวางตราสัญลักษณ์ประจำเขตกลางผืนผ้าดวงใหญ่กลางผืน ทั้งธงผ้าปักตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร คือ รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนผืนผ้าติดด้ามธง

           ความหมายของ “ตราสัญลักษณ์ประจำเขตบึงกุ่ม”
           พื้นน้ำสีฟ้าคราม แทนความหมายของความสงบสุข ร่มเย็น เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
           ดอกกุ่มสามดอก แทนความหมายของประชาชนในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็ ล้วนแต่เป็นพี่น้องเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก สามัคคี
           นกสองตัวบินอยู่ บนท้องฟ้าเหนือพื้นดิน ผืนน้ำ แทนความหมายของความเป็นอิสระในความคิดแสดงถึงการเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี มีความสอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน รูปวงกลมล้อมรอบ
           เครื่องหมายข้างต้นทั้งหมด แทนความหมายของความสมาน สามัคคี ความกลมเกลียว ของพี่น้องประชาชน ข้าราชการ ลูกจ้างเขตบึงกุ่ม หน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่เขตบึงกุ่ม

           สรุปความหมายโดยภาพรวมของตราสัญลักษณ์ประจำเขตบึงกุ่ม ประชาชนเขตบึงกุ่ม รวมถึงข้าราชการ ลูกจ้าง หน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็อยู่รวมกันด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อยู่กันอย่างสงบสุข ร่มเย็น ล้อมรอบไปด้วยความรัก สามัคคี มีความกลมเกลียว ขณะเดียวกันก็มีอิสระในความคิด แต่ก็เป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี ทำงานเป็นทีม เดินไปในทิศทางเดียวกัน