คุยอย่างไร ให้เข้าใจวัยรุ่น
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th
ไม่มีเด็กคนไหนอยากถูกพ่อแม่บ่นไปตลอด แต่หลายครั้งที่พ่อแม่เองก็อยากจะเตือนลูกด้วยความหวังดี แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีอารมณ์เชิงลบ เผลอหลุดต่อว่าลูกแรงๆ ความสัมพันธ์ก็ยิ่งเหินห่าง เริ่มคุยกันน้อยลงหรือไม่อยากจะคุยด้วย หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่โตจนเกินแก้ไขได้
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อโครงการเน็ตป๊าม้า (Net PAMA) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “คุยอย่างไร ให้เข้าใจวัยรุ่น” เพื่อหาวิธีและทางออกที่เหมาะสมให้กับเรื่องนี้
“เด็กเมื่อโตเข้าสู่วัยรุ่นยังไงนิสัยก็เปลี่ยน ยิ่งพ่อแม่พยายามเข้าใกล้เท่าไหร่ ลูกก็ยิ่งตีตัวออกห่าง เราไม่ชอบที่ลูกใส่อารมณ์กับเรา ลูกเองก็ไม่ชอบที่พ่อแม่ใส่อารมณ์กับเขาเช่นกัน แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะคุยกันแบบไม่ใส่อารมณ์ได้” เป็นความเห็นของ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต
พญ.วิมลรัตน์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเด็กมักจะมีท่าทีต่อพ่อแม่เปลี่ยนไป สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเกี่ยวกับอารมณ์ ส่งผลทำให้ใจร้อน ขี้หงุดหงิด ไม่ชอบฟังคำบ่น ไม่ชอบให้ใครมาวุ่นวายเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ ยังชอบนอนดึกตื่นสายอีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นธรรมชาติของร่างกาย
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เล่าต่อว่า การตั้งความคาดหวังในตัวเด็กวัยรุ่นนั้น สามารถทำได้ แต่พ่อแม่ควรเลือกคาดหวังกับเรื่องหลัก ๆ ที่ตรงกับความสามารถและสอดคล้องกับนิสัยของลูก เช่น สนใจการเรียน ไม่มีเรื่องทะเลาเบาะแว้ง มีความรับผิดชอบ ส่วนบางเรื่องก็ต้องปล่อยผ่าน เช่น ทำห้องรก ลืมล้างจาน หรือพูดไม่เพราะบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นความคาดหวังที่อยากให้เขามีความสุข จะกลายเป็นการทะเลาะกันเสียเปล่า ๆ
เช่นนั้นแล้วเราจะมีเทคนิคเพิ่มความเข้าใจกันอย่างไร ระหว่างพ่อแม่และลูกที่เป็นวัยรุ่น เพื่อนำไปสู่การพูดคุยที่มีประสิทธิภาพ พญ.วิมลรัตน์ แนะนำว่า
1. เข้าใจอารมณ์ตัวเองเข้าใจอารมณ์ลูก พ่อแม่ต้องเริ่มจากปรับใจตัวเองก่อน เช่น วันนี้จะเข้าไปคุยกับลูกเรื่องอะไร จะเข้าไปคุยด้วยความรู้สึกแบบไหน โมโห หงุดหงิด หรือช่วยกันคิดแก้ปัญหา และเตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่าลูกคงจะไม่ตอบสนองอะไรกับคำพูดของเรามาก ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกผิดหวัง และไม่รู้สึกหงุดหงิดมากเกินไป
2. มองหาข้อดีในตัวลูก เพราะแม้ลูกจะไม่ได้เป็นแบบที่เราต้องการ แต่เขาก็มีข้อดีตั้งหลายอย่าง และบางเรื่องที่ลูกไม่ยอมทำตามใจเรา ก็ไม่ได้เป็นตัวที่ชี้วัดหรือขัดขวางอนาคตของลูก
3. เริ่มต้นด้วยบรรยากาศที่ดี ใช้คำพูดกลาง ๆ อย่าเริ่มด้วยคำบ่นหรือต่อว่า เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกหงุดหงิด ไม่อยากคุยด้วย พยายามสื่อสารทั้งสองทาง คือ เป็นทั้งผู้พูดและเป็นผู้รับฟังที่ดี
4. เปิดใจรับฟังความคิดเห็น เพราะลูกก็อาจจะมีเหตุผลที่ทำแบบนั้น หรืออาจจะใช้เทคนิคพูดคุยกับลูกเหมือนที่คุยกับเพื่อนร่วมงาน เพราะเราจะไม่ใช้อารมณ์ ฟังความคิดเห็น มีความอดทนยับยั้งชั่งใจ ระมัดระวังคำพูดต่อเพื่อนร่วมงาน เวลาทำอะไรขัดใจ ซึ่งถ้าลองมาปรับใช้กับลูกก็อาจจะช่วยให้เกิดการรับฟังที่ดีขึ้น
5. เลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม เช่น ถ้าลูกกำลังแชทกับเพื่อน กำลังเล่นเกม หรือกำลังดูหนังซีรีส์อยู่ ก็อย่าเพิ่งเข้าไปขัดจังหวะ เพราะอาจจะทำให้หงุดหงิดและไม่อยากรับฟัง อาจจะนัดเวลากัน เช่น มีเรื่องจะคุยด้วยนะ ว่างเมื่อไหร่มาคุยกันหน่อย เป็นต้น
6. เปิดและปิดประเด็นด้วยการชม พ่อแม่ควรหาเรื่องชมหรือขอบคุณเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ลูกเคยช่วยทำ โดยอาจจะเตรียมเรื่องที่จะชมลูกเอาไว้อย่างน้อย 2 เรื่อง เพื่อเอาไว้ปิดหัวปิดท้ายการสนทนา แล้วเอาเรื่องที่เราต้องการไว้ตรงกลาง เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าวันนี้ถูกเรียกมาบ่น
“อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ และฝึกทำเป็นประจำ ซึ่งการพูดคุยกับลูกวัยรุ่นในครั้งต่อ ๆ ไป ก็จะสามารถสื่อสารเชิงบวกได้อย่างเป็นธรรมชาติ” พญ.วิมลรัตน์ ฝากทิ้งท้าย
ด้าน ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา หรือน้องญา จาก Founder of Mental Me และรองประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ เล่าถึงแรงกดดันที่มาจากความคาดหวังของผู้ใหญ่ว่า ส่วนตัวพยายามแยกคำว่าความคาดหวังกับคำว่ากดดันออกจากกัน เพราะคำว่าความคาดหวังก็มีข้อดีตรงที่เป็นแรงผลักดันให้ทำบางสิ่งได้ดีขึ้น แต่ในบางครั้งความคาดหวังที่มันมากเกินไปมันกลายเป็นการกดดันมากเกินไป ดังนั้น หากได้รับความคาดหวังอะไร ขอให้นำมาพิจารณาดูว่าความคาดหวังเรื่องนี้ เราต้องการทำมันจริง ๆ หรือไม่ ถ้าใช่ก็ลุยต่อเลย แต่ถ้าอะไรที่เริ่มเป็นความกดดันต้องระวังเพราะจะกลายเป็นส่งผลแง่ลบต่อตัวเด็กได้
สำหรับสิ่งที่อยากจะได้รับจากผู้ใหญ่ น้องญา บอกว่า อยากให้ผู้ใหญ่เป็นเหมือน “เพื่อนผู้นำ” โดยบทบาทแรกคือการเป็นเพื่อนที่สามารถพูดคุย ปรึกษา หรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังได้อย่างไม่รู้สึกอึดอัดใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาอยากดินเข้ามาคุยด้วยอยู่ตลอด ในขณะเดียวกันก็อยากจะให้เป็นผู้นำด้วย โดยเฉพาะในเวลาที่อ่อนไหวต้องการความช่วยเหลือ เป็นคนที่จับมือเขาก้าวเดินไปข้างหน้า ดังนั้น การเป็นทั้งเพื่อนและเป็นผู้นำ จะครอบคลุมสิ่งที่เด็กวัยรุ่นคาดหวังอยากจะได้รับจากผู้ใหญ่
สิ่งสำคัญในการพูดคุยกับลูกวัยรุ่นก็คือการเลือกใช้คำพูดเชิงบวกกับพวกเขา รับฟังปัญหาพร้อมคอยให้กำลังใจ สนับสนุนไม่ซ้ำเติมยามที่เขาก้าวผิด เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ใจลูกวัยรุ่นอย่างแน่นอน สสส. ขอสนับสนุนการพูดคุยสื่อสารเชิงบวก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในทุกครอบครัว
ทั้งนี้ หากพ่อแม่ ผู้ปกครองท่านใดสนใจหลักสูตรออนไลน์สอนเทคนิคในการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.netpama.com/ หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ Net PAMA: เน็ต ป๊าม้า https://www.facebook.com/netpama.101
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สสส.