ประวัติอำเภอบางซื่อ
           เมื่อ พ.ศ. 2437 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรับปรุงจัดรูปแบบการปกครองใหม่ตามแบบตะวันตก โดยจัดการปกครองส่วนกลางขึ้นเป็นกระทรวงต่าง ๆ และยกฐานะกรมพระนครบาลเป็นกระทรวงนครบาล ทำหน้าที่ปกครองพื้นที่มณฑล กรุงเทพมหานคร ต่อมาในช่วงปลายรัชกาลได้แบ่งการปกครองออกเป็นอำเภอชั้นใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนคร อำเภอสำเพ็ง อำเภอบางรัก อำเภอปทุมวัน อำเภอดุสิต อำเภอบางกอกน้อย อำเภอบางกอกใหญ่ อำเภอบางลำพูล่าง และอำเภอชั้นนอก 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางซื่อ อำเภอบางเขน อำเภอบางกะปิ อำเภอบางขุนเทียน อำเภอราษฏร์บูรณะ อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ และอำเภอหนองแขม อำเภอบางซื่อ จึงเป็นอำเภอหนึ่งของมณฑลกรุงเทพ เป็นอำเภอชั้นนอก มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานปกครอง เหมือนอำเภอในหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย มีตำบลในเขตการปกครองรวม 14 ตำบล คือ ตำบลสี่แยกบางซื่อ ตำบลบางซื่อเหนือ ตำบลบางซื่อใต้ ตำบลบางซ่อน ตำบลบางโพ ตำบลบางกระบือ ตำบลถนนนครไชยศรี ตำบลบางอ้อ ตำบลบางพลัด ตำบลสามเสนนอก ตำบลสามเสนใน ตำบลลาดยาว ตำบลบางเขนใต้ และตำบลบางเขน

ที่ตั้งของอำเภอบางซื่อในอดีต
           จากหลักฐานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้กล่าวถึงที่ตั้งอำเภอบางซื่อว่ามีการสร้างที่ว่าการอำเภอใหม่แทนหลังเก่า ในสมัยนายอำเภอชื่อ “เขียน” ที่บริเวณตำบลสี่แยกบางซื่อ (อยู่บริเวณตรงข้ามสโมสรทหารอากาศบางซื่อ) โดยรื้อที่ว่าการอำเภอหลังเดิมแล้วนำไม้เก่ามาทำรั้วและสร้างสะพานข้ามคลองเปรมประชากรเข้าที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ ที่ว่าการอำเภอบางซื่อหลังใหม่นี้ได้เปิดทำการเมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม รัตนโกสินทร์ศก 121 มีหลักฐานจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรได้แสดงถึงแผนผังที่ว่าอำเภอบางซื่อ หนังสือราชการของกรมราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 30 กรกฏาคม ร.ศ.121 หนังสือราชการของอำเภอบางซื่อ และดวงตราประจำตำแหน่งนายอำเภอบางซื่อ เมื่อ พ.ศ.2458
           ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแบ่งเขตของมณฑลกรุงเทพออกเป็นจังหวัดต่าง ๆ อำเภอบางซื่อจึงขึ้นอยู่กับจังหวัดพระนคร และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง รัฐบาลได้ประกาศยุบมณฑลต่าง ๆ คงเหลือการปกครองในระดับจังหวัด จังหวัดพระนครแบ่งการปกครองเป็นอำเภอต่าง ๆ มีการยุบรวมอำเภอตามประกาศเทศาภิบาล พุทธศักราช 2481 อำเภอบางซื่อจึงถูกยุบและลดฐานะเป็นตำบลบางซื่อ ขึ้นอยู่กับอำเภอดุสิต และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2514 คณะปฏิวัติได้มีประกาศรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน เรียกว่า จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ตำบลบางซื่อก็ยังมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอดุสิต และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ได้จัดรูปการปกครองของ “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” เป็น “กรุงเทพมหานคร” มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 ได้บัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นทบวงการเมือง เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง แบ่งพื้นที่บริหารออกเป็นเขตและแขวง หลังจากนั้นได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันและได้บัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น แบ่งพื้นที่บริหารออกเป็นเขตและแขวง ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวนั้น ตำบลบางซื่อจึงเป็นแขวงบางซื่อขึ้นอยู่กับเขตดุสิต
           ครั้นถึง พ.ศ. 2532 กรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดตั้งสำนักงานเขตเพิ่มขึ้นเพื่อให้การบริการ การปกครอง และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขตได้รับความสะดวกรวดเร็วและคล่องตัวยิ่งขึ้น จึงได้จัดตั้งสำนักงานเขตดุสิต สาขา 1 (บางซื่อ) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2532 เพื่อเป็นการเตรียมการและรองรับในการที่จะแบ่งพื้นที่การปกครองของเขตดุสิตและเขตบางซื่อ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 จัดตั้งสำนักงานเขตดุสิต สาขา 1 (บางซื่อ) เป็น “สำนักงานเขตบางซื่อ” ตั้งแต่นั้นมา โดยในระยะแรกใช้อาคารเรียนโรงเรียนวัดมัชฌันติการามเป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาได้รับอนุมัติ งบประมาณจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 84 ล้านบาท ให้ก่อสร้างอาคารที่ทำการถาวรที่บริเวณซอยกานต์ประภา ถนนริมคลองประปา เป็นอาคารสูง 7 ชั้น ในเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน และก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2536 จึงย้ายจากที่ทำการชั่วคราวมาปฏิบัติงาน ณ ที่อาคารแห่งใหม่และได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารสำนักงานเขตบางซื่ออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538
          ปัจจุบันสำนักงานเขตบางซื่อ ตั้งอยู่เลขที่ 99 ซอยกานต์ประภา ถนนริมคลองประปา แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800