พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่
การบังคับใช้กฎหมายแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ
1) ช่วงแรกจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนจัดเก็บภาษีรวมทั้งกระทรวงมหาดไทยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำพระรากฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ และ ประกาศรวมถึงดำเนินการในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
 2) ช่วงที่สองจะเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป พร้อมกับการยกเลิก การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ยกเว้นกรณีภาษีที่ต้องเสียหรือพึงชำระหรือที่ค้างอยู่หรือที่ต้องคืนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563
ใครคือผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1) เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
2) เจ้าของอาคารชุด
3) ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ
4) ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีแทนผู้เสียภาษี เช่น ผู้จัดการมรดกหรือทายาท ผู้จัดการทรัพย์สิน เป็นต้น
ภาระภาษีที่ต้องเสียแต่ละปี มีวิธีการคำนวณอย่างไร
1) ฐานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
 
2) วิธีการคำนวณภาระภาษี
    2.1) กรณีที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี (มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน/ตร.ว. x ขนาดพื้นที่ดิน)
    2.2) กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน+มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี (มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน/ตร.ว. x ขนาดพื้นที่ดิน) มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง/ตร.ม. x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา)
    2.3) กรณีห้องชุด ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี (มูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด/ตร.ม. x ขนาดพื้นที่ ห้องชุด)
 
3) ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด และอัตราค่าเสื่อมราคากำหนดโดยคณะอนุกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ประจำจังหวัดและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินและคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ แห่งรัฐ พ.ศ. 2562
อัตราการคิดคำนวณภาษีป้าย คิดอย่างไร
1. ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน คิดอัตรา 3 บาท ต่อตารางเซนติเมตร
2. ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศหรือปนกับภาพและหรือเครื่องหมายอื่น คิดอัตรา 20 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
3. ป้ายดังต่อไปนี้คิดอัตรา 40 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
    • ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่
    • ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
4. ป้ายที่คำนวณพื้นที่และประเภทของป้ายแล้วเสียภาษี ต่ำกว่า 200 บาท ให้เสียในอัตรา200 บาท
การยื่นประเมินและการชำระภาษีป้าย ต้องดำเนินการเมื่อไหร่
1. เจ้าของป้ายซึ่งต้องเสียภาษีป้าย ยื่นแสดงแบบรายการภาษีป้ายตั้งแต่ 2 มกราคม – 31มีนาคม ของทุกปี โดยเสียเป็นรายปี ยกเว้นป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรก ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายใน 15 วัน และให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันเริ่มติดตั้งหรือแสดงจนถึงสิ้นปี
2. ชำระภาษีป้ายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินจากพนักงานเจ้าหน้าที่
3. ถ้าภาษีป้ายเกิน 3,000 บาท จะขอผ่อนชำระเป็นสามงวดเท่า ๆ กันก็ได้
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินคือใคร
     ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือ ผู้รับประเมิน ซึ่งหมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีเว้นแต่ถ้าที่ดินและอาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เป็นคนละเจ้าของกันให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารโรงเรือน สิ่งปลูกสร้างต่างๆเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
อัตราค่าภาษี คิดอย่างไร
อัตราภาษีให้เสียอัตราร้อยละสิบสองจุดห้าของค่ารายปี
ขั้นตอนการยื่นเสียภาษีบำรุงท้องที่
ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) ภายในเดือนมกราคม ทุก ๆ 4 ปี
หากไม่ยื่นภายในกำหนด เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีที่ต้องชำระ
ยื่นชำระภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี หากไม่ยื่นชำระภายในกำหนดต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ
การไม่ยื่นแบบและชำระภาษีภายในกำหนด คิดค่าเพิ่มอย่างไร
กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยื่นแบบภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าภาษี
กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินค่าภาษี
Page 1 of 1