แหล่งที่มาวิีดิทัศน์


 
มัสยิดต้นสน ( TONSON   MOSQUE )

                 มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า  “ กุฎีใหญ่ ”  โดยเรียกย่อมาจากคำว่า “ กุฎีบางกอกใหญ่ ” เพราะตั้งอยู่บริเวณใกล้ปากคลองบางกอกใหญ่ หลังจากมีการสร้างอาคารใหม่และปลูกต้นสนคู่ที่หน้าประตูกำแพง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ มัสยิดต้นสน ”
                 เมื่อแรกสร้างเป็นเพียงเรือนไม้ยกพื้น  ฝาขัดแตะ  และหลังคามุงจาก  หลังจากที่ชาวมุสลิมที่มาประกอบพิธีทางศาสนามีจำนวนมากขึ้น  จึงมีการขยายมัศยิดให้กว้างขวาง  โดยเปลี่ยนเป็นเรือนไม้สักและหลังคามุงกระเบื้อง ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการสถาปนามัสยิดให้เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หน้าบันเป็นลายลงรักปิดทองประดับช่อฟ้า ใบระกาคล้ายวัดในพุทธศาสนา   ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ยกช่อฟ้า ใบระกาออก  เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด  จากนั้นมัสยิดได้ทรุดโทรมลง จึงมีการสร้างมัสยิดขึ้นใหม่ โดยรักษาสถาปัตยกรรมเดิมไว้   ส่วนโดมนั้นเป็นทรงอียิปต์  สมัยฮิจเราะห์ศักราช 800  ภายในมีกระดานโบราณแกะสลักเป็นภาษาอาหรับ วิหารกะอ์บะอ์  และผังมัสยิดในนครเมกกะ     

 
   
แผนที่การเดินทาง  (ระบบ Gis กรุงเทพมหานคร)

เลขที่ 447 ถ.วังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กทม. 10600  โทร. 02-4665326  รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน  สาย 19,57
 
สิ่งสำคัญ ที่น่าชม  
1. ชุมทิศ (แผ่นกระดานไม้สักจำหลักลวดลาย) เดิมปิดทองล่องชาด จำหลักภาพมหาวิหารกะอ์บะห์ในอดีตและยกโองการจากมหาคัมภีร์อัล-กุรอานจำหลักประดับ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็น " เครื่องประดับชุมทิศ " ของมัสยิดเก่าแห่งใดแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310) และลอยตามลำน้ำเจ้าพระยาลงมาจึงยังคงปรากฏร่องรอยไฟไหม้เป็นประจักษ์ในปัจจุบัน
2. มิห์รอบ และ มิมบัร  มิห์รอบ(ซุ้มชุมทิศ) ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลายจำหลักหน้าบันลายกระจังก้านขด ยกช่อฟ้า ใบระกา และลงรักปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม มิมบัร(แท่นแสดงธรรม) ศิลปะผสมแบบชวาลงรักปิดทองประดับกระจกเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี (ปัจจุบันมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่)
3. คัมภีร์อัล-กุรอาน  พระมหาคัมภีร์ฉบับคัดลายมือด้วยก้างปลาบางฉบับคัดด้วยเมล็ดข้าวเปลือก เฉพาะปฐมบทเขียนสอดสีทับลายน้ำทองอย่างวิจิตรงดงาม บรรจุในหีบไม้สักเขียนลายรดน้ำ ประดับมุก ประดับกระจก ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี จำนวนหลายฉบับ
4. โคมไฟพระราชทาน  ปรากฏข้อความจารึกอยู่ที่โคมไฟ " ที่รฤกในงานพระบรมศพ ร.ศ.129 " โคมไฟดังกล่าวเป็นเครื่องสังเค็ดที่ได้รับพระราชทานเนื่องในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช 2453 ตรงกับรัตนโกสินทร์ศก 129 พบเห็นได้เฉพาะมัสยิดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
5. อาคารรับเสด็จฯ  สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2458 ตรงกับ ฮ.ศ. 1333 ประดับลวดลายฉลุแบบขนมปังขิง(Ginger Bread) เคยเป็นอาคารรับเสด็จฯ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพร้อมด้วยพระอนุชา(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2489
6. ศาลาโถงแปดเหลี่ยม  หลังคาทรงปั้นหยาประดับลวดลายแบบขนมปังขิง(Ginger Bread) สร้างขึ้นใน พ.ศ.2473 เน้นรูปทรงสถาปัตยกรรมให้ผสมกลมกลืนกับเรือนไม้ที่สร้างมาก่อน ศาลาหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาลาเอนกประสงค์เพื่อการพบปะสังสรรค์
7. สะพานรบีอุสซานี  สะพานข้ามคลองวัดหงส์รัตนารามเชื่อมระหว่างชุมชนมุสลิม มัสยิดต้นสนกับชุมชนข้างเคียง สร้างอุทิศโดย น.ต.พระลักษมนา(หล่า ชลายนเดชะ) ร.น.เมื่อเดือนรบีอุสซานี ปี ฮ.ศ.1347 ตรงกับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2471 สะพานนี้นอกจากสร้างขึ้นเพื่อการสัญจรของผู้คนในชุมชนรอบข้างในสมัยนั้นแล้ว ยังปรากฏเอกสารบางฉบับกล่าวถึงลำคลองสายนี้ว่าขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อแบ่งพื้นที่ชุมชนต่างๆ รายรอบให้เป็นที่ชัดเจนด้วย
8. แท่นหลุมศพออกญาราชวังสันเสนีย์ (ม๊ะหมูด)  งานสถาปัตยกรรมก่ออืฐถือปูนรูปทรงฐานปัทม์ เมื่อขุดสำรวจบูรณะและศึกษาในรายละเอียด รูปทรงสถาปัตยกรรม ขนาดการเรียงอิฐ ตำแหน่งทิศที่ตั้ง และข้อมูลเอกสาร ทำให้ทราบว่างานดังกล่าวเป็นลักษณะฐานปัทม์ ตกท้องสำเภา อันเป็นศิลปะนิยมในสมัยอยุธยาที่สร้างขึ้นในเมืองธนบุรีขณะนั้น และก่อทับบนตำแหน่งการฝังศพบุคคลที่มีความสำคัญกับศาสนสถานแห่งนี้ สันนิษฐานชั้นต้นว่าเป็นตำแหน่งการฝังศพของออกญาราชวังสันเสนีย์(ม๊ะหมูด) บุตรออกญารามเดโชชัย(ทิพ) ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือกำกับพลทหารฝรั่งเศส ณ ป้อมวิชาเยนทร์ ปากคลองบางกอกใหญ่ และเป็นผู้ปฏิสังขรณ์กะดีใหญ่แห่งนี้ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2231
 
สถานที่ถัดไป (พิพิธภัณฑ์บ้านคุณหลวงฤทธิณรงค์รอน)